‘เครือสหพัฒน์’ เปิด 4 โรงงาน โชว์ศักยภาพ ‘ความยั่งยืน’ มุ่งสู่ผู้ผลิตสินค้าไร้คาร์บอน

เมื่อโลกร้อน รวน ปรวนแปร จึงทำให้ภาคธุรกิจ ถนนทุกสาย มุ่งสู่ “ความยั่งยืน” เพราะในทศวรรษต่อจากนี้ไป คำว่า Sustainable Development หรือ SD จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว

เช่นเดียวกับ “เครือสหพัฒน์” องค์กร 81 ปี ยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภคของประเทศไทย ที่ได้มีการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตสินค้าทุกโรงงานที่อยู่ในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์อาณาจักร 1,800 ไร่ ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อก้าวเข้าสู่ Net Zero ในปี 2593 ภายใต้นโยบาย “คนดี สินค้าดี สังคมดี” ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ

เครือสหพัฒน์ยึด ‘ESG’ เคลื่อนทัพธุรกิจ

พันธกิจดังกล่าวมี ธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เครือสหพัฒน์ เป็นผู้ขับเคลื่อนเดินหน้า

“ธรรมรัตน์” กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมาส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวให้พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการบริหารธุรกิจ รวมถึงกระบวนการทำงานในทุกมิติ ให้องค์กรสามารถก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนได้ ไม่ใช่แค่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และช่องทางการจัดจำหน่ายให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเท่านั้น ยังต้องบริหารงานโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาลEnvironmental, Social, Governance หรือ ESG ในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปด้วย

โดย “ด้านสิ่งแวดล้อม” จะดูแลทั้งกระบวนการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยคำนึงถึงที่มาของวัตถุดิบ หรือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตควบคู่ไปกับการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการทำงานและการสื่อสาร เพื่อลดการใช้พลังงานและส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้หลัก Reduce-Reuse-Recycle อย่างเช่น ใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ในการทำบรรจุภัณฑ์ การใช้กระดาษรีไซเคิล และแยกขยะนำสิ่งที่ใช้แล้วกลับมาใช้อีก

“ด้านสังคม” จะเป็นการพัฒนาศักยภาพของพนักงานให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น โดยจัดให้มีการทบทวนความรู้เพิ่มเติม หรือการรีสกิลและอัพสกิลอย่างเป็นระบบ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจขององค์กรอย่างยั่งยืนตามปณิธานของ ดร.เทียม โชควัฒนา ผู้ก่อตั้งเครือสหพัฒน์

“ด้านหลักธรรมาภิบาล” จะให้ความสำคัญการกำกับดูแลกิจการที่ดีซึ่งเป็นรากฐานสำคัญและมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติ รวมถึงกำหนดจรรยาบรรณกรรมการบริษัท ผู้บริหารและพนักงานอย่างชัดเจน

ไอ.ซี.ซี.พาบุก ‘ศรีราชา’ เปิด 2 โรงงานโชว์การผลิต

เพื่อให้เห็นภาพจริง ทาง “ไอ.ซี.ซี.” ผู้ทำการตลาดและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคกว่า 100 แบรนด์ พาไปบุกถึงที่ศรีราชา ดูการผลิตของ 2 โรงงานชื่อดัง “ไลอ้อนและราชาอูชิโน” ซึ่งผลิตสินค้าภายใต้การดูแลของ “บีเอสซี อินเตอร์เนชั่นแนล”

นับเป็นการเปิดบ้านครั้งแรกของ 2 โรงงานให้ได้เยี่ยมชมศักยภาพการผลิตสินค้า ตั้งแต่ขั้นตอนแรกเริ่มจนถึงการบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการผลิต ซึ่งมีการนำระบบเอไอ หรือหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในการผลิต สอดรับกับเทรนด์โลกยุคปัจจุบัน

ก่อนพาทัวร์ในแต่ละโรงงาน บุษบง มิ่งขวัญยืน ผู้จัดการโครงการบีเอสซี อินเตอร์เนชั่นแนล เล่าถึงประเด็นโลกร้อนว่าถูกกล่าวถึงถี่ขึ้นในทุกวงการ ทำให้ปัจจุบันองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม ต่างได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง SD และ ESG มากขึ้น และยังนำมากำหนดเป็นเป้าหมายในทุกระดับการพัฒนา ไม่ว่าการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ ระดับประเทศ ภาคธุรกิจ ต่างนำความยั่งยืนมาเป็นตัวชี้วัดและถือเป็นเทรนด์ระดับ “โกลบอล เทรนด์” ซึ่ง ไอ.ซี.ซี.ที่มีสินค้าดูแลหลากหลายแบรนด์ต้องปรับตัวไปสู่การผลิตที่ยั่งยืนรับกับกระแสของโลกด้วยเช่นกัน

ท่านบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ได้เล็งเห็นความสำคัญและกำหนดทิศทางนี้กับ ไอ.ซี.ซี.และสหกรุ๊ปมานานหลายปีโดยโรงงาน ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ต่างๆ ได้ปรับปรุงกระบวนการคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ ใช้วัตถุดิบที่รีไซเคิลให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะที่ในอาคารสำนักงานบริษัทในเครือก็ใช้พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงสำนักงานแห่งใหม่ King Bridge (คิงบริดจ์) ที่พระราม 3ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างก็ได้ออกแบบให้ตอบโจทย์ความยั่งยืนด้วย” บุษบงกล่าว

‘ไลอ้อน’ จาก 54 ปี สู่องค์กรยั่งยืน 100 ปี

อีกเรื่องราวที่น่าสนใจจาก สายชล ศีติสาร กรรมการบริหารการผลิต บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ผงซักฟอก น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจานแบรนด์เปา เอสเซ้นซ์ ไลปอนเอฟได้เล่าถึงความเป็นมาของไลอ้อนว่าเป็นการร่วมลงทุนระหว่างบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด และบริษัท เดอะ ไลอ้อน แฟทแอนด์ออย จำกัด ประเทศญี่ปุ่น จากวันแรกที่ก่อตั้งถึงปัจจุบันได้ดำเนินธุรกิจมากว่า 50 ปีแล้ว กำลังมุ่งสู่องค์กร 100 ปี

โดยโรงงานผลิตที่ศรีราชา มีเนื้อที่กว่า 200 ไร่ มีทั้งหมด 7 โรงงาน แต่ละโรงงานผลิตสินค้าทั้งหมด 7 ประเภท ซึ่งโรงงานได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียวเมื่อปี 2562 ตามโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรม แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ดำเนินการภายใต้ “บีซีจี อีโคโนมี โมเดล”

“ทุกโรงงานเราใช้พลังงานสะอาด ติดโซลาร์รูฟท็อป พร้อมนำเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นกรีน ไม่ว่าระบบอัตโนมัติและเอไอมาใช้ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ภายในโรงงานให้ได้ 55% ในปี 2573 และความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593” สายชลกล่าว

ยังอัพเดตเพิ่มว่าบริษัทได้ลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท ก่อสร้าง Eco Tower อาคารธรรมมงคล หออบผงซักฟอกแห่งที่ 3 ซึ่งเป็นกรีนเทคโนโลยีที่สนับสนุนความยั่งยืน โดยเปิดดำเนินการเมื่อปี 2564 และภายใน 2-3 ปีนี้ เพื่อเป็นการรองรับการเติบโตของตลาดและเป็นฐานการผลิตในเอเชีย เตรียมจะลงทุนขยายโรงงานเพิ่มอีก 2 แห่ง บนเนื้อที่ 10 ไร่ที่เหลือ ในส่วนของชาวเวอร์ครีมโชกุบุสซึ และโฮมแคร์ แบรนด์ไลปอนเอฟ

“ที่นี่เราผลิตสินค้าเพื่อส่งออก 20% ไปยังกลุ่มประเทศอินโดจีนญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง โดยตลาดประเทศลาวและเวียดนามเติบโตมาก ปัจจุบันทั้ง 2 ประเทศนี้ได้มีการส่งออกไปยังประเทศจีนโดยรถไฟความเร็วสูงแล้ว ต่อไปเราจะขยายไปช่องทางนี้เช่นกัน เพื่อขยายฐานการส่งออกมากขึ้น ซึ่งวันนี้เป็นยุคของการฟื้นฟูธุรกิจที่กลับมารีบาวด์แล้วจากโควิด เพื่อให้ธุรกิจของเราเติบโตและยั่งยืนต่อไป” สายชลกล่าวย้ำ

ผลิต ‘ผงซักฟอก-น้ำยาซักผ้า’ ด้วยพลังงานความร้อน น้ำ ไฟฟ้า

จากนั้นการเยี่ยมชมโรงงานเริ่มออกสตาร์ต หมุดหมายแรกเป็นโรงงานผลิตน้ำยาซักผ้าและผงซักฟอกแบรนด์ “เอสเซ้นซ์” โดยจุดแรกอยู่ที่ Eco Tower ที่เริ่มการผลิตเมื่อปี 2564 มีกำลังการผลิตสูงสุดในเอเชีย มีแวร์เฮาส์เก็บสินค้าสูง 18 ชั้น สามารถบรรจุได้ 3 แสนกล่อง (หีบ) พร้อมนำโรบอตมาช่วยในการขึ้นรูปสินค้าด้วย

จุดที่สอง โรงงานผลิตผงซักฟอก ซึ่งที่นี่มีกำลังการผลิต 6,000 หีบต่อวัน ควบคุมคุณภาพการผลิตด้วยพลังงานความร้อน พลังงานลม น้ำ และใช้ของเสียจากการผลิตให้หมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด และยังลดการใช้พลาสติกด้วยช้อนตักผงซักฟอกจาก “ช้อนพลาสติก” เป็น “ช้อนกระดาษ” ที่ผลิตจากเยื่อกระดาษ จากทั้งหมดทำให้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 1,500 ตันต่อปี

จุดที่สาม โรงงานผลิตน้ำยาซักผ้าแบบแกลลอน โดยน้ำยาซักใช้สารประกอบที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ มีเอนไซม์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำความสะอาด ลดการใช้สารเคมี ยังมีการใช้ IDA (Industrial Data Analytics) เป็นแพลตฟอร์มการใช้พลังงานเทียบกับอัตราการผลิตมาวิเคราะห์ข้อมูลและประสิทธิผลการผลิตแบบเรียลไทม์ สามารถลดพลังงานไฟฟ้าได้ 15% ต่อปี

ขณะที่การบรรจุใช้เครื่องอัตโนมัติ ทุกแกลลอน ทุกขวดจะผ่านการตรวจสอบน้ำหนักบรรจุอย่างแม่นยำ ถ้าไม่ถึงไม่ให้ผ่าน ถ้าผ่านจะถูกลำเลียงตามสายพานไปยังเครื่องบรรจุลงหีบอัตโนมัติโดยโรบอต เพื่อลำเลียงสินค้าไปจัดเก็บในคลังสินค้าด้วยระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ

ล้วงลึก ‘ราชาอูชิโน’ กว่าจะเป็นผ้าขนหนู ‘แบมบู’

ปิดท้ายด้วยโรงงานผลิตผ้าขนหนูแบมบูจาก “ไผ่” โดยบริษัท ราชาอูชิโน จำกัด ที่เปิดบ้านให้ดูการผลิตตั้งแต่ทอ ย้อม พิมพ์ ปัก เป็นครั้งแรกนับจากก่อตั้งมา 40 ปี

อาวุธ กฤษณานุวัตร ที่ปรึกษา เล่าย้อนถึงอดีตว่าโรงงานก่อตั้งเมื่อปี 2516 เดิมอยู่พระประแดง ผลิตผ้าขนหนูอย่างเดียว ต่อมาปี 2525 ย้ายมาอยู่ที่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ มาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อปี 2531 หลังสหพัฒน์ร่วมทุนกับบริษัท อูชิโน จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ปัก พิมพ์ ตั้งโรงงานตัดเย็บและขยายตลาดส่งออกจนมาถึงปัจจุบัน

“เหตุผลที่เราเลือกใช้ผ้าจากแบมบู เพราะสะอาด นุ่มสบาย ซับน้ำได้ดี แห้งไว มีสุขอนามัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน เพราะผลิตจากเส้นใยไผ่ ซึ่งปี 2566 มีออเดอร์การผลิตผ้าขนหนูแบมบูอยู่ที่ 236,000 ผืน ใช้เส้นด้ายแบมบู 36,000 กิโลกรัม ด้านยอดขายเติบโตขึ้น 50%” อาวุธกล่าว

พร้อมอธิบายถึงกระบวนการผลิต จะเริ่มจากกระบวนการปั่นเป็นเส้นด้ายเยื่อไผ่ส่งไปยังโรงงาน ก่อนนำผ้าเข้าสู่การฟอกย้อมสี ซึ่งเป็นสีจากธรรมชาติ ผ่านการอบ การเย็บ การติดแบรนด์บีเอสซี ทุกกระบวนจะผ่านเครื่องจักรที่ประหยัดพลังงาน ขณะที่โรงงานมีติดโซลาร์รูฟแล้วเช่นกัน

ด้านกำลังการผลิต ประสงค์ เหลาโชติ ผู้จัดการฝ่ายโรงงาน ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันโรงงานมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 50,000 ปอนด์ต่อเดือน ในปี 2567 จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 52,000 ปอนด์ต่อเดือน ในนี้มีกำลังการผลิตผ้าขนหนูแบมบูประมาณ 30,000 ชิ้น ที่เหลือเป็นผ้าอื่นๆ และผ้าหลาสำหรับตัด แนวโน้มปีหน้าจะผลิตผ้าแบมบูเพิ่มหลังได้รับความนิยมมากขึ้น โดยปัจจุบันขายในประเทศ 70% ส่งออกต่างประเทศ 30% เป็นผ้าหลาที่ผลิตจากโรงงานพระประแดง

ขณะที่ มาลัย แสงหิรัญ รองผู้อำนวยการฝ่ายขายในประเทศ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันผ้าขนหนูบีเอสซีแบมบูมีให้เลือกซื้อทั้งแบบเป็นชิ้น ราคาเริ่มต้น 130 บาทต่อผืน และแบบเป็นเซต ราคา 490 บาทต่อเซต และในเดือนธันวาคม 2566 จะมีชุดนอนแบมบูวางขายในตลาด ราคาประมาณ 1,500-1,600 บาทต่อชุด เจาะลูกค้าชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะไต้หวันและจีน หลังเปิดตัวในงานสหกรุ๊ปแฟร์ครั้งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับดีมาก จึงจะทำตลาดอย่างจริงจัง

ไม่ใช่แค่ 2 โรงงานนี้ “ไอ.ซี.ซี.” ยังจัดคิวพาชมขั้นตอนการผลิตอีก 2 โรงงาน คือ บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเครื่องแต่งกายเด็ก “บีเอสซี อองฟองต์” ตั้งอยู่เขตบางคอแหลม วันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ และบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรีส์ จำกัด ผู้ผลิตเครื่องสำอาง “เพียว แคร์ บีเอสซี” ตั้งอยู่บนถนนบางนา-ตราด ในวันที่ 14 ธันวาคม 2566

เมื่อกระแสการรักษ์โลกแผ่ขยายไปทั่วราชอาณาจักร ไม่ว่าธุรกิจเล็กหรือใหญ่ก็ต้องหันมาให้ความสำคัญ เพื่อไปสู่โรดแมปสร้างการเติบโตธุรกิจให้ยั่งยืน